พระพิฆเนศ

พระพิฆเนศ

พระพิฆเนศ พระคเณศ (สันสกฤต: गणेश ทมิฬ: பிள்ளையார் อังกฤษ: Ganesha) ชาวไทยนิยมเรียกว่า พระพิฆเนศ[3] (विघ्नेश) พระนามอื่นที่พบ เช่น พระพิฆเณศวร พระพิฆเณศวร์ หรือ พระคณปติ เป็นเทวดาในศาสนาฮินดูที่ได้รับการเคารพบูชาอย่างแพร่หลายที่สุด[4] มีการเคารพอย่างแพร่หลายทั้งในประเทศอินเดีย, เนปาลศรีลังกาฟิจิไทยบาหลีบังคลาเทศ[5] นิกายในศาสนาฮินดูทุกนิกายล้วนเคารพบูชาพระคเณศ ไม่ได้จำกัดเฉพาะในคาณปัตยะเท่านั้น[6] และการบูชาพระคเณศยังพบในพุทธและไชนะอีกด้วย[7]

พระลักษณะที่โดดเด่นจากเทพองค์อื่น ๆ คือพระเศียรเป็นช้าง[8] เป็นที่เคารพกันโดยทั่วไปในฐานะของเทพเจ้าผู้ขจัดอุปสรรค[9], องค์อุปถัมภ์แห่งศิลปวิทยาการ วิทยาศาสตร์ และศาสตร์ทั้งปวง และทรงเป็นเทพเจ้าแห่งความฉลาดเฉลียวและปัญญา[10] ในฐานะที่พระองค์ยังทรงเป็นเทพเจ้าแห่งการเริ่มต้น ในบทสวดบูชาต่าง ๆ ก่อนเริ่มพิธีการหรือกิจกรรมใด ๆ ก็จะเปล่งพระนามพระองค์ก่อนเสมอ ๆ [11][2]

สันนิษฐานกันว่าพระคเณศน่าจะปรากฏขึ้นเป็นเทพเจ้าครั้งแรกในราวคริสต์ศตวรรษที่ 2[12] ส่วนหลักฐานยืนยันว่ามีการบูชากันย้อนกลับไปเมื่อราวคริสต์ศตวรรษที่ ๔ – ๕ สมัยอาณาจักรคุปตะ ถึงแม้พระลักษณะจะพัฒนามาจากเทพเจ้าในพระเวทและยุคก่อนพระเวท[13] เทพปกรณัมฮินดูระบุว่าพระคเณศทรงเป็นพระบุตรของพระศิวะ และ พระปารวตี พระองค์พบบูชากันอย่างแพร่หลายในทุกนิกายและวัฒนธรรมท้องถิ่นของศาสนาฮินดู[14][15] พระคเณศทรงเป็นเทพเจ้าสูงสุดในนิกายคาณปัตยะ [16] คัมภีร์หลักของพระคเณศเช่น คเณศปุราณะมุทคลปุราณะ และ คณปติอฐารวศีรสะ นอกจากนี้ยังมีสารานุกรมปุราณะอีกสองเล่มที่กล่าวเกี่ยวกับพระคเณศ คือ พรหมปุราณะ และ พรหมันทปุราณะ

พระลักษณะของพระคเณศที่มีพระเศียรเป็นเป็นช้างนั้นพบมาตั้งแต่ในศิลปะอินเดียยุคแรก ๆ [37] ปกรณัมในปุราณะระบุถึงสาเหตุมากมายถึงที่มาของพระเศียรที่ทรงเป็นช้าง[38] นอกจากนี้ยังพบพระลักษณะ “พระเหรัมภะ” คือปางห้าเศียร และปางอื่น ๆ ที่มีจำนวนพระเศียรหลากหลายเช่นกัน[39] คัมภีร์บางส่วนระบุว่าพระองค์ประสูติมาพร้อมกับพระเศียรที่เป็นช้าง บ้างก็ระบุว่าทรงได้รับพระเศียรนี้ในภายหลัง[40] ความเชื่อหนึ่งที่นิยมแพร่หลายมากที่สุดคือพระองค์ทรงถูกสร้างขึ้นโดยพระปารวตีทรงปั้นดินเหนียวขึ้นเพื่อปกป้องพระองค์เองและพระศิวะก็ทรงตัดพระเศียรของพระคเณศออกและประทานพระเศียรช้างให้แทน[41] ส่วนรายละเอียด ศึกต่าง ๆ ที่นำไปสู่การประทานเศียรใหม่นั้น แตกต่างกันไปตามเอกสารต่าง ๆ [42][43] อีกความเชื่อกนึ่งที่แพร่หลายเช่นกัน ระบุว่าพระคเณศประสูติจากเสียงพระสรวลของพระศิวะ แต่ด้วยพระลักษณะของพระคเณศที่ประสูติออกมานั้นเป็นที่ล่อตาล่อใจเกินไป จึงทรงประทานพระเศียรใหม่ที่เป็นช้าง และพระอุทร (ท้อง) อ้วนพลุ้ย[44]

พระนามที่เกิดขึ้นในภายหลังที่สุดคือ “เอกทันต์” หรือ “เอกทนต์” (งาเดียว) มาจากพระลักษณะที่ทรงมีงาเพียงข้างเดียว อีกข้างนั้นแตกหัก[45] บางพระรูปที่เกิดขึ้นหลังจากนั้นปรากฏทรงถืองาที่หักในพระหัตถ์[46] ลักษณะ “เอกทันต์” นี้มีความสำคัญมาก ดังที่ระบุในมุทกลปุราณะ ซึ่งระบุว่าทรงกลับชาติมาเกิดครั้งที่สองเป็น “เอกทันต์”[47] ส่วนพระลักษณะของพระอุทรพลุ้ยนั้นถือเป็นลักษณะที่โดดเด่นและพบปรากฏตั้งแต่ในศิลปะยุคคุปตะ (ศตวรรษที่ ๔ – ๖)[48] พระลักษณะนี้ก็มีความสำคัญมาก ดังที่ในมุทกลปุราณะระบุพระนามที่ทรงกลับชาติมาเกิดตามพระลักษณะนี้ถึงสองพระนาม คือ “ลัมโภทร” (ท้องห้อยเหมือนหม้อ), “มโหทร” (ท้องใหญ่)[49] พระนามั้งสองนี้มากจากคำภาษาสันสกฤต “อุทร” ที่แปลว่าท้อง [50] ใน “พรหมันทปุราณะ” ระบุว่าพระนาม “ลัมโภทร” มาจากการที่จักรวาลทั้งปวง อดีต ปัจจุบัน และอนาคต (ไข่จักรวาล หรือ “พรหมาณทัส”)[51] พบ ๒ – ๑๖ พระกร[52] พระรูปส่วนใหญ่ของพระองค์มีสี่พระกร ซึ่งพบระบุทั่วไปในปุราณะต่าง ๆ[53] พระรูปในยุคแรก ๆ ปรากฏสองพระกร[54] ส่วนปางที่ทรงมี ๑๔ และ ๒๐ พระกรพบในอินเดียกลาง ช่วงศตวรรษที่ ๙ และ ๑๐[55] นอกจากนั้นยังพบพญานาคประกอบอยู่กับเทวรูปโดยทั่วไป มีหลากหลายรูปแบบ[56] ซึ่งในคเณศปุราณะระบุว่าพระองค์ทรงพันวาสุกิรอบพระศอ[57] บางครั้งก็มีการแสดงภาพของงูหรือนาคในลักษณะของด้ายศักดิ์สิทธิ์ (วัชณโยปวีตะ; yajñyopavīta)[58] คล้องรอบพระอุทร, ทรงถือในพระหัตถ์, ขดอยู่ที่เข่า หรือประทับเป็นบัลลังก์นาค ในบางงานศิลป์ปรากฏพระเนตรที่สามบนพระนลาฏ (หน้าผาก) บ้างปรากฏรอยขีดเจิม (ติลัก) สามเส้นในแนวนอน[59] ในคเณศปุราณะมีกำหนดทั้งติลักและจันทร์เสี้ยวบนพระนลาฏ [60] ลักษณะนี้ปรากฏในปาง “พาลจันทร์” (Bhalachandra – ดวงจันทร์บนหน้าผาก)[61] สีพระวรกายมักถูกระบุว่าเป็นสีแดง[62] สีต่าง ๆ ของพระวรกายมีความสัมพันธ์กับปางต่าง ๆ บางปาง[63] ปางทำสมาธิต่าง ๆ ตรงกับสีพระวรกายต่าง ๆ ที่แตกต่างกัน ข้อมูลนี้ระบุไว้ขัดเจนใน “ศรีตัตตวนิธิ” ตำราประติมานวิทยาฮินดู เช่น สีขาวสื่อถึงปาง “เหรัมภะ คณปติ” และ “รินะ โมจนะ คณปติ” (Rina-Mochana-Ganapati; พระคณปติผู้ทรงหลุดพ้นจากโซ่ตรวนที่ตรึงไว้)[64] ส่วน “เอกทันตคณปติ” จะมีสีพระวรกายน้ำเงินเมื่อทรงทำสมาธิ[65]

จากคติความเชื่อที่ว่าพระพิฆเนศเป็นเทพแห่งศิลปวิทยาการ ในรัชสมัยพระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว (รัชกาลที่ 6) ด้วยความเลื่อมใสของพระองค์ที่มีต่อพระพิฆเนศ จึงโปรดเกล้าฯ ให้สร้างเทวาลัยเพื่อเป็นที่ประดิษฐานของเทวรูปพระพิฆเนศขึ้น ณ พระราชวังสนามจันทร์ จังหวัดนครปฐม และทรงมีพระราชนิพนธ์เรื่องเกี่ยวกับพระพิฆเนศไว้สำหรับการนาฏศิลป์โดยเฉพาะ เมื่อทรงตั้งวรรณคดีสโมสร ก็พระราชทานเทวรูปพระพิฆเนศเป็นตราประจำสถาบันนั้น เมื่อกรมศิลปากรเกิดขึ้นและรับตราดังกล่าวมาเป็นตราประจำกรม โดยเป็นรูปพระพิฆเนศประทับลวดลายกนกลักษณะคล้ายเมฆ ทรงถือปาศะครอบน้ำวัชระและทันตะอยู่ในวงกลมที่ล้อมรอบด้วยดวงแก้ว 7 ดวง หมายถึงศิลปวิทยา ๗ อย่างที่อยู่ในขอบเขตหน้าที่ของกรมศิลปากร และต่อมายังได้ใช้เป็นตราสัญลักษณ์ของมหาวิทยาลัยศิลปากร[70][71] วิทยาลัยช่างศิลป และ สถาบันบัณฑิตพัฒนศิลป์ [72][73]

เทศกาลคเณศจตุรถี นับเป็นเทศกาลที่ยิ่งใหญ่ที่สุดของการบูชาพระพิฆเนศ จะกระทำในวันแรม ๔ ค่ำ เดือน ๙ และวันแรม ๔ ค่ำ เดือน ๑๐ ซึ่งถือว่าเป็นวันที่พระองค์ทรงชนะอสูร เชื่อกันว่าพระองค์จะเสด็จลงมาสู่โลกมนุษย์เพื่อประทานพรอันประเสริฐสูงสุดแก่ผู้ศรัทธาพระองค์ท่าน เทศกาลนี้มีการจัดพิธีกรรมบูชาและการเฉลิมฉลองอย่างยิ่งใหญ่ทั่วประเทศอินเดียและทั่วโลก มีการจัดสร้างเทวรูปพระพิฆเนศขนาดใหญ่โตมโหฬารเพื่อเข้าพิธีบูชา จากนั้นจะแห่เทวรูปไปทั่วเมืองและมุ่งหน้าไปสู่แม่น้ำศักดิ์สิทธิ์สายต่าง ๆ ถนนหนทางทั่วทุกหนแห่งจะมีแต่ผู้คนออกมาชมการแห่เทวรูปนับร้อยนับพันองค์ ผู้ศรัทธาทุกคนแต่งชุดส่าหรีสีสันสวยงาม ขบวนแห่จะไปสิ้นสุดที่แม่น้ำศักดิ์สิทธิ์ เช่น แม่น้ำคงคา แม่น้ำสรัสวตี เป็นต้น แล้วทำพิธีลอยเทวรูปลงสู่แม่น้ำหรือทะเล

เทศกาลคเณศจตุรถีและพิธีกรรมต่าง ๆ กระทำกันมาแต่โบราณ มีรายละเอียดปลีกย่อยอีกมากมาย และหนึ่งในพิธีกรรมที่กระทำกันก็คือ “เอกวีสติ ปัตรบูชา” หรือการบูชาด้วยใบไม้ ๒๑ ชนิดเป็นเวลา ๒๑ วัน[69]