หล่อพระ,เชียงแสน

พระพุทธรูปศิลปสมัยเชียงแสน

พระพุทธรูป

พระพุทธศิลปสมัยชียงแสน

สมัยเชียงแสน

(ระหว่าง พ.ศ. ๑๖๐๐ – ๒๐๘๙)

          พระพุทธรูปสมัยนี้ เป็นของฝีมือช่างไทย ซึ่งได้เข้ามาตั้งภูมิลำเนาอยู่ในประเทศนี้ตั้งแต่โบราณ มีพบทั่วไปในมณฑลพายัพ แต่ที่พบในเมืองเชียงแสนเก่าเป็นชนิดฝีมือช่างดีงามกว่าที่พบในจังหวัดอื่นๆ ทางโบราณคดีจึงใช้คำนี้เป็นชื่อของพระพุทธรูปสมัยนี้ แบ่งออกเป็น ๒ รุ่น คือรุ่นแรกและรุ่นหลัง

(webpage) 2009430_80880.jpg

(chiangsaen) 2009513_84833.jpg

(webpage) 2009430_80899.jpg

          รุ่นแรก เป็นแบบอย่างพระพุทธรูปอินเดีย ครั้งราชวงศ์ปาละซึ่งเจริญในอินเดียระหว่าง พ.ศ. ๑๒๗๓ ถึง พ.ศ.๑๗๔๐ ครั้งนั้นมหาพุทธวิทยาลัยที่เมืองนาลันทะเจริญรุ่งเรือง เป็นสำนักที่นักปราชญ์ต่างประเทศไปมาอยู่เนืองๆ ฝีมือช่างอินเดียครั้งราชวงศ์ปาละจึงได้แพร่หลายไปในนานาประเทศฝ่ายตะวันออก มีประเทศพม่าและชะวาเป็นต้น

(chiangsaen) 2009513_85679.jpg

          ช่างทำพระพุทธรูปสมัยเชียงแสนรุ่นแรกนี้ ก็คงจะได้แบบอย่างมาจากอินเดียด้วยเหมือนกัน แต่จะได้รับมาตรงจากอินเดีย หรือได้รับต่ิอมาจากประเทศพม่าหรือชะวา ข้อนี้ยังไม่มีหลักฐานแน่นอน แต่อย่างไรก็ดี พระพุทธรูปสมัยนี้ มีลักษณะคล้ายคลึงกับพระพุทธรูปอินเดีย ครั้งราชวงศ์ปาละทุกอย่าง คือพระองค์อวบอ้วน เกตุมาลาเป็นต่อมกลม นั่งขัดสมาธิเพชร พระหัตถ์มารวิชัย พระอุระนูน ชายสังฆาฏิสั้นอยู่เหนือราวพระถัน พระพักตร์กลมสั้น พระโขนงโก่ง พระนาสิกงุ้ม พระโอษฐ์เล็ก พระหนุเป็นปม เส้นพระศกใหญ่เป็นต่อมกลมหรือเป็นก้นหอย ไม่มีไรพระศก ฐานมีบัวรอง มีทั้งบัวหงายบัวคว่ำ มีกลีบแซมและมีเกสร         

          มีพระพุทธรูปอีกสกุลหนึ่ง เรียกว่าพระพุทธรูปเมืองนครศรีธรรมราช มีลักษณะเหมือนกับพระพุทธรูปสมัยเชียงแสนรุ่นแรกเกือบทุกอย่าง คือพระเกตุมาลาเป็นต่อม พระอุระนูน ชายสังฆาฏิสั้น เส้นพระศกใหญ่ นั่งขัดสมาธิเพชร พระหัตถ์ในท่ามารวิชัย ไม่มีไรพระศก ต่างกันเพียงเล็กน้อยเท่านั้น คือ วงพระพักตร์แบนและกว้างกว่า พระโอษฐ์กว้างกว่า ปลายสังฆาฏิใหญ่และมีหลายแฉก ฐานไม่มีบัวรองหรือมีบัวก็เป็นชนิดใหม่ไม่เหมือนกับบัวเชียงแสน ข้อที่พระพุทธรูปเมืองนครศรีธรรมราชเหมือนกับพระพุทธรูปรุ่นแรกนั้น ก็เพราะได้รับแบบอย่างการสร้างพระพุทธรูปมาจากครูเดิมอันเดียวกัน คือครั้งราชวงศ์ปาละ แต่ข้อที่แตกต่างกันเล็กน้อยนั้นก็เพราะพระพุทธรูปเชียงแสนรุ่นแรก เป็นฝีมือช่างไทยเหนือทำตามอย่างพระพุทธรูปอินเดียครั้งราชวงศ์ปาละ ส่วนพระพุทธรูปเมืองนครศรีธรรมราชเป็นฝีมือช่างไทยใต้ทำเจือปนด้วยแบบขอม คือที่มีพระพักตร์และพระโอษฐ์กว้างนั้นเป็นลักษณะของพระพุทธรูปขอม ด้วยเมืองนครศรีธรรมราชอยู่ใกล้และมีทางติดต่อกับเมืองลพบุรีมากกว่าเมืองเชียงแสน พระพุทธรูปแบบนี้ที่เป็นพระนั่งมีปางเดียวเท่านั้น คือปางมารวิชัยขัดสมาธิเพชร

(chiangsaen) 2009513_85268.jpg

          พระพุทธรูปเชียงแสนรุ่นหลัง เป็นของไทยชาวลานนาและลานช้าง ทำตามอย่างพระพุทธรูปสมัยสุโขทัย มีลักษณะต่างไปจากเชียงแสนชั้นแรกมาก คือทำพระเกตุมาลาเป็นเปลว นั่งขัดสมาธิราบ ชายสังฆาฏิยาว เส้นพระศกละเอียด มีไรพระศก ที่แปลกที่สุดนั้นก็คือเกตุมาลาเป็นเปลว พระพุทธรูปตั้งแต่สมัยทวารวดีมาจนถึงสมัยเชียงแสนชั้นแรกทำพระเกตุมาลาสั้นทั้งนั้น เพิ่งจะมีเกตุมาลายาวเกิดขึ้นในสมัยสุโขทัย อันได้รับแบบอย่างมาจากพวกลังกา พระสมัยเชียงแสนชั้นหลังนี้เอาอย่างมาจากสุโขทัยอีกต่อหนึ่ง

          พระพุทธรูปสมัยนี้ มีพระนั่งเป็นส่วนมาก พระยืนมีน้อยและสร้างด้วยโลหะเป็นพื้น ชั้นแรกตั้งแต่ราว พ.ศ. ๑๖๐๐ ถึง พ.ศ. ๑๘๐๐ ชั้นหลังตั้งแต่ พ.ศ. ๑๘๐๐ ถึง พ.ศ. ๒๔๘๙ คือถึงปีที่พระไชยเชษฐากลับจากเชียงใหม่ไปครองกรุงศรีสัตนาคนหุตลานช้าง อันมีเมืองเวียงจันทน์เป็นราชธานี เพราะตั้งแต่นี้ศิลปการทำพระพุทธรูปในลานนาประเทศเสื่อมลง มีแต่พระพุทธรูปฝีมือช่างเลวๆเป็นพื้น อันไม่ควรนับเข้าถึงชั้นศิลป

          พระพุทธรูปสมัยนี้ทั้งรุ่นแรกและรุ่นหลังที่ได้พบแล้ว ทำเป็นปางต่างๆ ๖ ปาง คือ

       ๑. ปางมารวิชัย ขัดสมาธิเพชร (รุ่นแรก) และขัดสมาธิราบ (รุ่นหลัง) ทำด้วยโลหะและปูนปั้น

       ๒. ปางสมาธิ ขัดสมาธิราบ (รุ่นหลัง) มีน้อย ทำด้วยโลหะ

       ๓. ปางอุ้มบาตร์ (รุ่นหลัง) ทำด้วยโลหะ

       ๔. ปางกดรอยพระพุทธบาท (รุ่นหลัง) ทำด้วยโลหะ

       ๕. ปางไสยา (รุ่นหลัง) ทำด้วยโลหะและปูนปั้น

       ๖. ปางนั่งห้อยพระบาท (รุ่นหลัง) ทำด้วยโลหะ