รูปปั้น, รูปเหมือน,

นายขนมต้ม

รูปปั้น นายขนมต้ม ค่ายมวย ช.ห้าพยัคฆ์

นายขนมต้ม มีชื่อเสียงในเชิงมวยเป็นที่เลื่องลือ โดยมีเหตุการณ์ที่นายขนมต้มชกชนะนักมวยพม่า เมื่อวันที่ 17 มีนาคม พ.ศ. 2317

พงศาวดารบันทึกว่า

เมื่อ พระเจ้ามังระ โปรดให้ปฏิสังขรณ์และก่อเสริม พระเจดีย์ชเวดากอง ในเมือง ย่างกุ้ง เป็นการใหญ่นั้น ครั้นงานสำเร็จลงในปี พ.ศ. 2317 พอถึงวันฤกษ์งามยามดี คือวันที่ 17 มีนาคม จึงโปรดให้ทำพิธียกฉัตรใหญ่ขึ้นไว้บนยอดเป็นปฐมฤกษ์ แล้วได้ทรงเปิดงานมหกรรมฉลองอย่างมโหฬาร

ขุนนางพม่ากราบทูลว่า “นักมวยไทยมีฝีมือดียิ่งนัก” พระเจ้ามังระจึงตรัสสั่งให้เอาตัวนายขนมต้ม นักมวยดีมีฝีมือตั้งแต่ครั้งกรุงเก่ามาถวาย พระเจ้ามังระได้ให้จัดมวยพม่าเข้ามาเปรียบกับนายขนมต้ม โดยจัดให้ชกต่อหน้าพระที่นั่ง ปรากฏว่านายขนมต้มชกพม่าไม่ทันถึงยกก็ชนะถึงเก้าคนสิบคน พระเจ้ามังระทอดพระเนตรยกพระหัตถ์ตบพระอุระตรัสสรรเสริญนายขนมต้มว่า “คนไทยนี้มีพิษสงรอบตัว แม้มือเปล่ายังเอาชนะคนได้ถึงเก้าคนสิบคน นี่หากว่ามีเจ้านายดี มีความสามัคคีกัน ไม่ขัดขากันเอง และไม่เห็นแก่ความสุขส่วนตัว และโคตรตระกูลแล้ว ไฉนเลยกรุงศรีอยุธยาจะเสียทีแก่ข้าศึก ดั่งที่เห็นอยู่ทุกวันนี้”

หลังจากนายขนมต้มได้เอาชนะนักมวยพม่าแล้ว พระเจ้ามังระได้ปูบำเหน็จแก่นายขนมต้มโดยแต่งตั้งเป็นข้ารับใช้ในกรุงอังวะแต่นายขนมต้มกลับปฏิเสธและขอให้พระเจ้ามังระปลดปล่อยตนและเชลยคนไทยทั้งหมดให้เป็นอิสระเพื่อกลับบ้านเกิด พระเจ้ามังระก็ยอมทำตามความประสงค์ ในที่สุดนายขนมต้มและเหล่าเชลยคนไทยก็ได้รับอิสรภาพและกลับไปยังบ้านเกิดก็คือแผ่นดินไทยที่มีกรุงธนบุรีเป็นราชธานีโดยสมัยพระเจ้ากรุงธนบุรีนามว่า ตากสินมหาราช นายขนมต้มก็ได้อาศัยอยู่บ้านเกิดอย่างสงบแต่ไม่ทราบว่าเสียชีวิตไปเมื่อใด

ประวัติมวยไทย

มวยไทยสมัยสุโขทัย

        กล่าวถึงเมื่อ พ.ศ.1781 เป็นต้นมาจนถึง พ.ศ.1951 ซึ่งมีการกล่าวว่ามวยไทยได้ถือกำเนิดขึ้นอย่างจริงจัง ซึ่งมีหลักฐานได้จารึกบอกไว้ว่า ช่วงรัชสมัยนั้นเป็นยุคแห่งการล่าอาณานิคม ดังนั้นการต่อสู้หรือการทำสงครามจึงเกิดขึ้นบ่อยมาก พัฒนาการทางการรบจึงจำเป็นต้องมีขึ้นอยู่ทุกช่วงเวลา เพื่อให้ไม่เสียเปรียบทางเชิงสงครามกับอริศัตรู

        ดังนั้นซึ่งก็เป็นยุคแห่งการใช้อาวุธเครื่องทุ่นแรงอย่างเช่น ธนู,หอก,ดาบ,โล่ ในระยะเวลามากกว่า 140 ปี ที่ได้ถูกบันทึกจากฐานข้อมูลไว้ว่า นอกจากการอาศัยอาวุธดังกล่าวมาข้างต้นแล้ว สิ่งสำคัญมากๆ สำหรับทหารกล้าผู้เป็นนักรบนักต่อสู้ในยุคนั้นจะต้องมีความแข็งแกร่งของร่างกายและอวัยวะทุกส่วนก็จำเป็นต้องนำมาประยุกต์ใช้เป็นอาวุธได้ทุกท่วงท่า เช่น หมัด,เท้า,เข่า,ศอก และใช้ประจันข้าศึกได้ในทุกระยะ แม้กระทั่งระยะไกลหรือประชิดตัวด้วยการ ต่อย,เตะ,ถีบ,หมัด,เข่า,ศอก นี่คือวิถีและแนวทางของ ศิลปะการต่อสู้ของไทย 

        สมัยสุโขทัยนั้นในขณะที่มีการว่างเว้นจากสงคราม เหล่าชายหนุ่มฉกรรจ์ทั้งหลายมักจะรวมตัวกันเพื่อฝึกฝนศิลปะการต่อสู้อย่างมวยไทย หรือบ้างก็เข้าไปหาครูมวยตามสำนักต่างๆ ซึ่งสมัยนั้นจะมีสำนักที่มีชื่อเสียงอยู่ไม่กี่แห่ง เช่น สำนักสมอคอน อยู่ที่ลพบุรี อีกอย่างในยุคนั้นมักจะมีการสอนและฝึกมวยกันอยู่ตามลานวัดต่างๆ บางข้อมูลก็เคยกล่าวว่าอาจมีทั้งพระภิกษุที่เป็นครูสอนมวยแก่ชายหนุ่ม และชายหนุ่มก็คงเป็นเด็กวัดในที่แห่งนั้น

แต่ด้วยที่มีเหตุสงครามเกิดขึ้นบ่อยๆ ในยุคนั้น พระสงฆ์ท่านจึงสอนมวยเพื่อการป้องกันตัวและประเทศเท่านั้นไม่ให้นำไปรังแกคนอื่น อีกอย่างครูมวยสมัยนั้นจะเน้นสอนศีลธรรมแก่ลูกศิษย์ อันเป็นการสอนควบคู่กันไปกับการต่อสู้ ในยุคนั้นองค์กษัตริย์แห่งกรุงสุโขทัยอย่างพ่อขุนศรีอินทราทิตย์ ได้ให้ความสำคัญกับมวยไทยเป็นอย่างมาก พระองค์ได้ส่งองค์ชายร่วงที่ 2 ไปศึกษามวยไทยยังสำนักใหญ่คือ สำนักสมอคอน จากนั้นในปี พ.ศ.1818-1860 มีการจารึกจากพ่อขุนรามคำแหง ที่พระองค์ได้กล่าวถึงตำราที่มีชื่อเสียงโด่งดังมาจนถึงปัจจุบันนั่นคือ ตำราพิชัยดาบหัก

มวยไทยสมัยอยุธยา

เมื่อปี พ.ศ. 1988-2310 นับเป็นเวลายาวนานถึง 417 ของสมัยยุคกรุงศรีอยุธยา และก็เช่นกันในสมัยนั้นมีการต่อสู้ทำสงครามกันระหว่างประเทศใกล้เคียงอยู่บ่อยครั้ง เช่น พม่า และ เขมร ด้วยเหตุนี้นอกจากการต่อสู้ด้วยอาวุธยุทโธปกรณ์ต่างๆเช่น หอก,ดาบ,ธนู ที่มีในยุคนั้นแล้ว การต่อสู้ด้วยมือเปล่าในแบบฉบับของศิลปะการป้องกันของไทย เช่น มวยไทยก็มีด้วย และจึงจำเป็นต้องมีการฝึกฝนกันอย่างเอาจริงเอาจัง เพื่อให้เกิดความแข็งแกร่งเช่นกันในยุคนั้น

มวยไทยยุคสมัยพระนเรศวรมหาราช

        เป็นยุคที่พระองค์ทรงได้ฝึกฝนชายหนุ่มจากการได้คัดเลือกผู้ที่มีฝีมือทางการต่อสู้ทางด้านมวยไทย และมาส่งเสริมให้แข็งแกร่งและชำนาญขึ้นจนได้กลายเป็นกองกำลังเสือป่าในคราวต่อมา

มวยไทยยุคสมัยสมเด็จพระนารายมหาราช

        ยุคนี้เป็นช่วงกาลเวลาที่สงบสุขจากภัยสงครามมาก ดังนั้นศิลปะการต่อสู้ของไทย อย่างมวยไทยเลยกลายเป็นการแสดงและกีฬาซะส่วนใหญ่ในกาลนั้น ซึ่งได้เกิดการแข่งขันมวยคาดเชือกกันขึ้นอย่างจริงจังอีกทีในยุคนั้นนั่นเอง

ยุคสมัยสมเด็จพระเจ้าเสือ

        เป็นช่วงยุคที่มวยไทยเกิดความนิยิมเพิ่มขึ้นอีกเป็นอย่างมากเช่นกัน เพราะพระเจ้าเสือ พระองค์ทรงมีพระปรีชาทางด้านมวยไทยเป็นอย่างมาก อีกทั้งพระองค์ยังทรงโปรดปรานการต่อสู้แบบมวยไทยยิ่งนัก จึงได้มีการจัดการฝึกฝนและแข่งขันมวยไทยขึ้น อีกทั้งพระองค์ก็ยังเข้าร่วมการแข่งขันนั้นด้วย

กำเหนิดนายขนมต้มและพระยาพิชัยดาบหัก

        ในสมัยแห่งช่วงตอนปลายของกรุงศรีอยุธยา  จากการที่กรุงศรีได้แตกในครั้งนั้น คนไทยต่างก็ถูกต้อนไปเป็นเชลยจำนวนมาก รวมทั้งนายขนมต้มและครอบครัว และในปี พ.ศ.2317 เจ้าอังวะแห่งเมืองย่างกุ้ง ได้จัดงานสมโภชน์ขึ้นและมีการแข่งขันมวยไทย ซึ่งนี่ก็เป็นอีกประวัติศาตร์ที่ ศิลปะมวยไทย ของเราได้ไปประจักษ์ต่อถิ่นอริศัตรู ซึ่งในวันนั้นนายขนมต้มนักมวยไทยจากสยามเพียงคนเดียว ที่ได้ล้มมวยพม่าตั้งสิบคน จนเป็นที่กล่าวขานมาจนถึง ณ ปัจจุบันนี้ ส่วนพระยาพิชัยดาบหัก(นามเดิมชื่อจ้อย)ก็เช่นกัน ท่านเป็นผู้ที่ชำนาญและเก่งทางด้านดาบและมวยไทยเป็นอย่างมาก ท่านเรียนมวยที่สำนักครูเที่ยง ความกล้าหาญของท่านเป็นที่จดจำด้วยการบุกฝ่าตีข้าศึกอย่างกล้าหาญจนดาบคู่ใจของท่านต้องปลายหักตามฉายาของท่าน เรื่องราวนี้ถูกจารึกในปี พ.ศ.2284-2325

แม่ไม้มวยไทย

หมายถึง ท่าของการใช้ศิลปะมวยไทยที่สำคัญที่สุด อันเป็นพื้นฐานของการใช้ไม้มวยไทย ซึ่งผู้ฝึกมวยไทยต้องเรียนรู้ และปฏิบัติให้ได้ก่อนที่จะฝึกลูกไม้ถือว่าเป็นการใช้ไม้มวยไทยที่ละเอียดขึ้น บูรพาจารย์ผู้ทรงคุณวุฒิได้จัดแบ่งแม่ไม้มวยไทยออกเป็น ๑๕ ไม้ ได้แก่  สลับฟันปลา  ปักษาแหวกรัง  ชวาซัดหอก  อิเหนาแทงกริช  ยอเขาพระสุเมรุ  ตาเถรค้ำฝัก  มอญยันหลัก  ปักลูกทอย  จระเข้ฟาดหาง  หักงวงไอยรา  นาคาบิดหาง  วิรุฬหกกลับ  ดับชวาลา  ขุนยักษ์จับลิง  หักคอเอราวัณ

ท่าสลับฟันปลา (รับด้านนอก)

ฝ่ายรุก
เดินเข้ามาชกด้วยหมัดซ้าย ตรงไปที่ใบหน้าของฝ่ายรับ
ฝ่ายรับ
ใช้มือซ้ายปัดหมัดฝ่ายรุกที่ข้อมือ ส่วนมือขวากระแทกไปที่หัวไหล่ด้านนอก ของฝ่ายรุก

ท่าปักษาแหวกรัง (รับด้านใน)

ฝ่ายรุก เดินมวยเข้าชกด้วยหมัดขวาตรงไปที่ใบหน้า มือซ้ายตั้งมั่นพร้อมที่จะชกหมัด

ฝ่ายรับ ก้าวเท้าขวา ทแยงเฉียงด้านขวาสืบเท้าเข้าวงใน ทิ้งน้ำหนักตัวลงบนเท้าขวา ใช้แขนซ้ายปัดหมัดให้พ้นใบหน้า มือขวากระแทกไปที่หัวไหล่ด้านในของฝ่ายรุกทันที

ท่าชวาซัดหอก

ฝ่ายรุก
เดินมวยชกด้วยหมัดขวาตรงไปที่บริเวณหน้าของฝ่ายรับ  มือขวาตั้งมั่น

ฝ่ายรับ
รีบก้าวเท้าซ้ายเฉียงออกวงนอก ทิ้งน้ำหนักตัวลงบนเท้าซ้าย โดยพุ่งตัวเข้าหาคู่ต่อสู้ แขนขวายกขึ้นปัดหมัดฝ่ายรุกให้เบนออกพ้นตัว แขนซ้ายยกศอกกระแทกเข้าชายโครงของฝ่ายรุก

ท่าอิเหนาแทงกริช

ฝ่ายรุก
เดินมวยเข้าชกด้วยหมัดขวาตรงไปที่บริเวณหน้า ของฝ่ายรับ มือซ้ายตั้งมั่น

ฝ่ายรับ
รีบก้าวเท้าขวาทแยงเข้าวงใน ทิ้งน้ำหนักลงบนเท้าขวา ยกแขนซ้ายขึ้นปัดหมัดให้พ้นตัว  แขนขวางอศอก เพื่อส่งศอกกระแทกที่ชายโครงของฝ่ายรุก

ท่ายอเขาพระสุเมรุ

ฝ่ายรุก
เดินมวยชกด้วยหมัดขวา ตรงเข้าบริเวณหน้าของฝ่ายรับ  มือซ้ายตั้งมั่น

ฝ่ายรับ
รีบก้มศีรษะให้หมัดผ่านศีรษะไป พร้อมกับสืบเท้าขวาไปข้างหน้าเล็กน้อย ให้ได้จังหวะหมัด  แล้วชกหมัดขวา เข้าสู่ปลายคาง ของฝ่ายรุกทันที

ท่าตาเถรค้ำฝัก

ฝ่ายรุก
เดินมวยชกด้วยหมัดขวาตรงเข้าบริเวณหน้าของฝ่ายรับ มือซ้ายตั้งมั่น

ฝ่ายรับ
รีบสืบเท้าขวาไปข้างหน้าเข้าวงในของฝ่ายรุก ทิ้งน้ำหนักตัวลงบนเท้าขวา พร้อมกับงอแขนซ้ายยกขึ้นตรงหน้า ปัดกระแทกขึ้น ให้หมัดฝ่ายรุกพ้นศีรษะไป มือขวาชกเข้าสู่ปลายคางของฝ่ายรุกทันที

ท่ามอญยันหลัก

ฝ่ายรุก
เดินมวยชกด้วยหมัดซ้ายตรงเข้าบริเวณหน้าของฝ่ายรับ

ฝ่ายรับ
รีบยกแขนทั้งสองขึ้นป้องกันหน้า พร้อมกับยกเท้าขวาถีบเข้าที่ยอดอกหรือท้องของฝ่ายรุก ให้กระเด็นไป

ท่าปักลูกทอย

ฝ่ายรุกเดินมวยเข้าเตะเหวี่ยงด้วยเท้าซ้ายเป้าหมายคือ ศีรษะฝ่ายรับ  มือทั้งสองตั้งมั่น

ฝ่ายรับ รีบสืบเท้าเข้าหาครึ่งก้าว พร้อมกับหมุนตัว เอาเท้าขวาเป็นแกน  หันหน้าเข้าหาทิศทางที่เท้าเตะมา  ยกศอกขวาตั้งขึ้นระดับหน้าแข้ง  มือซ้ายตั้งการ์ดปิดระดับต้นคอให้มั่น  เพื่อป้องกันพลาดถูกใบหน้า

ท่าจระเข้ฟาดหาง

ฝ่ายรุก เดินมวยเข้าชกด้วยหมัดขวาตรงสุดแรง  จนตัวเสียหลักถลันเข้าไปข้างหน้า

ฝ่ายรับ ก้าวเท้าซ้ายทแยงออกวงนอก เอี้ยวตัวให้หมัดผ่านทางไหล่ขวา ในระยะ ๑ คืบ  แล้วใช้เท้าซ้ายเป็นหลัก หมุนให้ส้นเท้ากระแทกที่ศีรษะ ของฝ่ายรุก

ท่านาคาบิดหาง

ฝ่ายรุก
เดินมวยเข้าหา พร้อมเตะเหวี่ยงด้วยเท้าขวา มือทั้งสองตั้งมั่น

ฝ่ายรับ
รีบพลิกตัวหันหน้าไปทางเท้าที่กำลังเตะมา น้ำหนักตัวทิ้งบนเท้าซ้าย เท้าขวาอยู่ในหลักยืนมวย แบบสิงหยาตร มือขวาตั้งฝ่ามือปะทะปลายเท้า มือซ้ายแบหงาย ตะปบส้นเท้า แล้วใช้มือที่จับปลายเท้า พลิกบิดออกด้านนอก มือซ้ายจับส้นเท้าฝ่ายรุก ดึงเข้าหาตัว พร้อมกับใช้เข่ากระแทกไปที่น่อง

ท่าหักงวงไอยรา

ฝ่ายรุก
เดินมวยเข้าหาพร้อมยกเท้าเข้าเตะกราดบริเวณชายโครง มือทั้งสองตั้งมั่น

ฝ่ายรับ
ก้าวเท้าซ้ายเข้าหาฝ่ายรุกในระยะเกือบชิดตัวอย่างรวดเร็ว  หันหน้าเข้าหาทิศทาง ที่ฝ่ายรุกเตะมา กระแทกศอกขวาสู่บริเวณโคนขาฝ่ายรุก พร้อมแขนซ้ายโอบจับตรงบริเวณน่อง ยกขาให้สูง เพื่อให้เสียหลัก ป้องกันฝ่ายรุกใช้ศอกถองที่ศีรษะ

ท่าวิรุฬหกกลับ

ฝ่ายรุก เดินมวยเข้าหา พร้อมทั้งยกเท้าเตะกราดตรงบริเวณชายโครง

ฝ่ายรับ รีบพลิกตัวทแยงหันหน้าสู่ทิศทางที่เท้าเตะมา ใช้เท้าซ้ายเป็นหลักยืนให้มั่น ยกเท้าขวากระแทกด้วยส้นเท้าที่ต้นขาให้สะท้อนกลับไป มือทั้งสองตั้งให้มั่น เพื่อป้องกันพลาดถูกชายโครง   

ท่าหักคอเอราวัณ

ฝ่ายรุก
เดินมวยเข้าหา ชกด้วยหมัดขวาตรงบริเวณหน้าของฝ่ายรับ

ฝ่ายรับ
ก้าวเท้าซ้ายไปข้างหน้า ใช้หมัดทั้งสองจับที่ต้นคอฝ่ายรุก จากนั้นก็กระแทกเข่าขวาไปที่หน้า ของฝ่ายรุก

ท่าดับชวาลา

ฝ่ายรุก
เดินมวยเข้าชกหมัดขวาตรงไปที่ใบหน้าของฝ่ายรับ

ฝ่ายรับ
ก้าวเท้าซ้ายทแยงเฉียงออกวงนอก ทิ้งน้ำหนักตัวบนเท้าซ้าย ใช้มือซ้ายกดแขนขวา ของฝ่ายรุกให้เบนและลงต่ำ รีบชกด้วยหมัดขวาตรงไปที่ใบหน้า ให้เป็นจังหวะเดียวกับมือซ้ายที่กดลงนั้นอย่างรวดเร็ว

ท่าขุนยักษ์จับลิง

ฝ่ายรุก
เดินมวยเข้าชกหมัดซ้ายตรงเข้าที่บริเวณหน้าของฝ่ายรับ พร้อมกับเตะเท้าขวา ตรงบริเวณชายโครง ตามด้วยศอกขวาอย่างรวดเร็ว

ฝ่ายรับ
รีบก้าวเท้าซ้ายสืบเข้าหาตัว ก้าวเท้าขวา ยกแขนทั้งสองข้างปัดการเตะที่แข้งขวาของฝ่ายรุก พร้อมยกแขนซ้ายป้องกันศอกขวาของฝ่ายรุก แม่ไม้นี้เป็นการหลบหมัด หลบเตะ หลบศอก ในเวลาเดียวกัน