พระพุทธรูป

พระพุทธรูปศิลปสมัยลพบุรี

พระพุทธรูป

สมัยลพบุรี  ( ระหว่าง พ.ศ. ๑๕๐๐ – ๑๘๐๐ )

          พระพุทธรูปสมัยนี้เป็นแบบอย่างฝีมือช่างขอมมีทั้งทำตามคติหินยาน ซึ่งมีอยู่เป็นดั้งเดิมแต่ครั้งสมัยทวารวดี และคติมหายานซึ่งได้รับมาแต่สมัยศรีวิชัย และพวกขอมนำเข้ามาแต่ประเทศกัมพูชาอีก ที่เรียกพระพุทธรูปแบบนี้ว่า สมัยลพบุรีนั้น ก็เพราะเมื่อขอมมีอำนาจปกครองประเทศสยามอยู่นั้น ตั้งราชธานีของอุปราชอยู่ที่เมืองลพบุรี นักปราชญ์ทางโบราณคดีจึงได้เอานามราชธานีครั้งนั้นมาเป็นชื่อสกุลช่างขอมในประเทศสยามมาให้จำง่าย มิได้หมายความว่าเป็นของทำเฉพาะแต่ที่ในจังหวัดลพบุรีเท่านั้น

ลักษณะพระพุทธรูปสมัยลพบุรี

(hamsamut) 200956_10977.jpg

พระพุทธรูปสมัยนี้มีพบในตอนกลางของประเทศสยามมากที่สุด แต่ทั้งทางเหนือและทางใต้ก็ได้พบประปรายทั่วไป ลักษณะพระพุทธรูปสมัยนี้ ยังคงทำเกตุมาลาเป็นต่อมเหมือนกับสมัยทวารวดี แต่เปลี่ยนรูปร่างไปหลายอย่าง คือ เป็นอย่างก้นหอยบ้าง อย่างฝาชีครอบบ้าง อย่างมงกุฏเทวรูปบ้าง อย่างเป็นดอกบัวแลเห็นกลีบรอบๆบ้าง มีไรพระศกเส้นใหญ่กว่าของสมัยศรีวิชัย เส้นพระศกทำเป็นอย่างเส้นผมคนบ้าง เป็นขมวดละเอียดบ้าง หยาบบ้าง ศิราภรณ์ทำอย่างทรงเทริดบ้าง กระบังหน้าบ้าง พระพักตร์กว้าง พระโอษฐ์แบะ พระหนุป้าน พระยืนทำเป็นอย่างห่มคลุมทั้งนั้น พระนั่งทำทั้งอย่างห่มคลุมและห่มดอง สังฆาฏิยาวลงไปจนจรดพระนาภี ชายอันตรวาสก(สะบง)ข้างบนเผยอเป็นสัน โดยมากพระกรรณยาวย้อยจนจรดพระอังสะ ที่เป็นขนาดใหญ่ทำเส้นพระศกเป็นอย่างบัวหลังเบี้ยก็มี เป็นอย่างเส้นผมคนและเป็นหนามขนุนก็มี ที่ทรงเครื่องมีฉลองศอกำไลแขน และประคตเป็นลวดลายแบบขอมผิดกับสมัยอื่นๆ บัวรองฐานทำทั้งอย่างบัวหงายบัวคว่ำก็มี บัวหงายอย่างเดียวก็มี และบัวคว่ำอย่างเดียวก็มี แต่บัวขอมสังเกตได้ง่ายกว่าบัวสมัยอื่น ๆ คือ เป็นอย่างชนิดบัวหลังเบี้ยหรือปลายกลีบมีขอบทั้งนั้น

ลักษณะพระพุทธรูปสมัยลพบุรีที่ทำในประเทศสยาม และพระพุทธรูปขอมแท้ที่ทำในประเทศกัมพูชา ศาสตราจารย์ยอช เซเดส์ ได้เป็นผู้สังเกตว่าต่างกันเล็กน้อย คือพระพุทธรูปนั่งของกรุงกัมพูชา มีส่วนสูงวัดตั้งแต่ทับเกษตร์ถึงพระเกศ เท่ากับส่วนกว้างวัดตรงหน้าตัก แต่พระพุทธรูปนั่งสมัยลพบุรีโดยมากมีส่วนสูงมากกว่าส่วนกว้าง พระพักตร์พระพุทธรูปสมัยลพบุรีก็ผิดกับพระพักตร์พระพุทธรูปของกัมพูชาอีกเล็กน้อย คือ พระโขนงนูนเป็นสันออกมามาก พระนาสิกโก่งและยาว พระหนุเป็นปมป้าน ไรพระศกหนาและโต เกตุมาลาใหญ่เป็นรูปฝาชีมีลวดลายคล้ายมงกุฏเทวรูป และอธิบายต่อไปว่า เหตุที่พระพุทธรูปสมัยลพบุรีที่ในประเทศสยามต่างกับพระพุทธรูปขอมในกรุงกัมพูชานั้น จะเป็นด้วยพระพุทธรูปสมัยลพบุรีเป็นฝีมือช่างขอมในหัวเมืองฝ่ายตะวันตก ไม่ชำนาญในการทำพระพุทธรูปหรือมีตำราทำพระพุทธรูปผิดกับช่างในกรุงกัมพูชา หรืออีกนัยหนึ่งว่าอาจเป็นฝีมือช่างชาวพื้นเมืองทำตามแบบขอม เปลี่ยนแปลงตามความนิยมของตน พระพุทธรูปสมัยลพบุรีในประเทศสยามกับพระพุทธรูปของในกรุงกัมพูชาจึงต่างกันไปบ้างเล็กน้อย แต่ความจริงพระพุทธรูปสมัยลพบุรีและพระพุทธรูปฝีมือช่างขอมในกรุงกัมพูชานั้นเป็นของสังเกตได้ยากที่สุดว่าแตกต่างกันอย่างไร ถ้าเอาพระพุทธรูปฝีมือขอมมาองค์หนึ่ง โดยไม่ให้รู้ว่าได้พบที่ไหนแล้ว ให้ทายว่าเป็นของทำในประเทศสยามหรือในประเทศกัมพูชาแล้ว ก็ยากที่จะทายได้ถูกต้อง

(lopburi) 200961_81478.jpg

พระพุทธรูปสมัยนี้เท่าที่ได้พบแล้ว ทำปางต่างๆ ๗ ปาง คือ

       ๑. ปางเสด็จลงจากดาวดึงส์ ทำด้วยโลหะ

       ๒. ปางประทานอภัย มีทั้งยกพระหัตถ์ข้างเดียว และสองข้าง ทำทั้งด้วยศิลาและโลหะ

       ๓. ปางประทานพร พบแต่ทำด้วยศิลา

       ๔. ปางโปรดสัตว์ พบแต่ทำด้วยโลหะ

       ๕. ปางนาคปรก มีทั้งอย่างเดี่ยวและอย่างรัตนตรัยมหายาน(คือชนิดมีพระพุทธนาคปรก(อาทิพุทธเจ้า)อยู่กลาง พระโพธิสัตว์อวโลกิเตศวร อยู่ข้างขวา นางปัญญาปารมีตา อยู่ข้างซ้าย ) ทำทั้งด้วยศิลาและโลหะ

(lopburi) 200961_81453.jpg

    ๖. ปางมารวิชัย ขัดสมาธิราบ ทำทั้งด้วยศิลาและโลหะ

(lopburi) 200956_11396.jpg

๗. ปางสมาธิ ขัดสมาธิราบ ทำทั้งด้วยศิลาและโลหะ สมัยนี้ไม่มีขัดสมาธิเพชร

          นอกจากปางต่างๆที่กล่าวนี้ ยังมีอีกชนิดหนึ่ง คือ ทำพระพุทธรูปตั้งแต่ ๓ องค์ถึง ๔ องค์ในฐานอันเดียวกัน ซึ่งอย่าง ๓ องค์คงจะหมายความถึงพระพุทธเจ้ามีกาย ๓ อย่าง คือ สัมโภคกาย ธรรมกาย และนิรมานกาย ตามคติมหายาน อย่าง ๔ องค์ติดกันคงจะหมายถึงพระพุทธเจ้า ๔ องค์ในภัททกัลป์น ที่ได้ตรัสรู้ไปแล้ว แต่ทำพระหัตถ์อย่างปางมารวิชัยทั้งนั้น จึงไม่นับเป็นปางหนึ่งต่างหาก