โรงหล่อพระ

พระเศรษฐีนวโกฏิ

พระนี้มีชื่อว่า “พระนวเศรษฐี” เป็นที่รู้จักแพร่หลายในปัจจุบันเพราะการสร้างโดยอาจารย์เทพย์ สาริกบุตร อย่างน้อยตั้งแต่ปี พ.ศ. 2512 ซึ่งอ้างอิงตำราของวัดมณีชลขัณฑ์ จังหวัดลพบุรี เชื่อว่าที่มาของตำรา พระอุบาลีคุณูปมาจารย์ (สิริจนฺโท) ได้มาจากล้านช้าง ปัจจุบันนิยมเรียกว่า พระเศรษฐีนวโกฏิ มีอายุคาถาเกินกว่าร้อยปีขึ้นไป มิใช่ตำราแต่งใหม่ พระอาจารย์ในจังหวัดลพบุรีสร้างกันหลายท่าน โดยเฉพาะในสายวัดนิกายธรรมยุติ และตัวบทพระคาถาแพร่หลายอยู่ในประเทศลาว รวมถึงภาคตะวันออกเฉียงเหนือของประเทศไทย ในภาคกลางสวดพระคาถาบทนี้ในงานสำคัญบางงาน แต่แทรกอยู่ในบทใหญ่ ไม่ได้แยกออกเป็นบทพิเศษ

เดิมในสมัยพุทธกาล เศรษฐีเป็นตำแหน่งที่ราชาเจ้าแคว้น พระราชทานให้แก่ผู้มีทรัพย์ เป็นพ่อค้าวานิชที่มีผลต่อเศรษฐกิจและความมั่งคั่งของท้องพระคลัง แต่ในพระคาถามุ่งหวังเพียงอ้างความดีของท่านผู้ใจบุญกลุ่มหนึ่ง ที่ปรากฏนามในพระชาดก ซึ่งบริจาคทานอย่างมโหฬาร หรือมีบารมีมาก สามารถบันดาลฝนโบกขรพรรษ สงเคราะห์แก่บริวารได้ เพื่อหวังอ้างบารมีของท่านเหล่านั้น ให้ส่งผลต่อผู้บูชา บุคคลเหล่านั้นทั้งที่อยู่ร่วมสมัยพุทธกาล และสมัยของอดีตพุทธะ มีชื่อว่า

  1. ธนัญชัย
  2. ยะสะ
  3. สุมนะ
  4. ชฏิละ
  5. อนาถปิณฑิกะ
  6. เมณฑกะ
  7. โชติกะ
  8. สุมังคละ
  9. มัณฑาตุ
  10. เวสสันตร

รวมเป็น 10 ท่าน ในบางฉบับ มี 11 ท่าน และในบทคาถานี้ ไม่มีนาง วิสาขามหาอุบาสิกา (ไม่มีชื่อในคาถานี้) ทำให้มีการคัดลอกผิดๆ มาตลอดหลายปี ผู้รู้ได้ถือเอาคตินี้มาสร้างเป็นพระนวเศรษฐี ให้มีพระพักตร์ทั้งหมด 9 พระพักตร์ แทนคุณของผู้บำเพ็ญทานในอดีต โดยรับอิทธิพลรูปแบบของพุทธมหายาน ทำให้มีหลายพระพักตร์

การสร้าง พระเศรษฐีนวโกฏิ

ตำรับของ ”’พระอุบาลีคุณูปมาจารย์ (สิริจนฺโท)”’ ให้ใช้ไม้ ยอป่าราชพฤกษ์ตะกรุดหรือกระดาษจารอักขระเงินทองคำครั่ง หรือ ชันโรง หรือ ขี้ผึ้ง มีเคล็ดปลีกย่อยในการเลือกไม้ และวิธีการรวมถึงวันที่ทำ อีกพอสมควร ยากที่สุดคือการหาไม้ตรงตามที่ระบุ ทำแล้วมีวิธีบูชา โดยใช้ คาถา“มาขะโย มาวะโยมัยหัง มาจะโกจิ อุปัททะโว ธัญญะธารานิ เม ปะวัสสันตุ ธะนัญชัยยัสสะ ยะถา ฆะเร สุวัณณานิ หิรัญญา จะ สัพพะโภคา จะ ระตะนานิ ปะวัสสันตุ เม เอวัง ฆะเร สุมะนะ ชะฏิลัสสะ จะ อะนาถะปิณฑิกะ เมณฑะกัสสะ โชติกะ สุมังคลัสสะ มัณฑาตุ เวสสันตะรัสสะ ปะวัสสันติ ยะถา ฆะเร เอเตนะ สัจจะวัชเชนะ สัพพะสิทธิ ภะวันตุ เม” ต้นฉบับเดิมไม่ปรากฏรูปแบบของพระ ผู้รู้จึงประดิษฐ์ขึ้น